โอกาสและความท้าทายของมะม่วงไทยในตลาดจีน

โอกาสและความท้าทายของมะม่วงไทยในตลาดจีน

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลหนึ่งในจีนที่สามารถปลูกผลไม้เมืองร้อนได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย จึงเป็นแหล่งปลูกมะม่วงที่สำคัญ มีสายพันธุ์ที่หลากหลาย (บางสายพันธุ์ซ้ำซ้อนกับที่นิยมปลูกในไทย เช่น เขียวเสวย งาช้าง) โดยเฉพาะเมืองไป่เซ่อ (Baise City) เป็นแหล่งปลูกมะม่วงที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศ

เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วที่รัฐบาลไป่เซ่อได้วางยุทธศาสตร์ให้มะม่วงเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน ทำให้ปัจจุบันเมืองไป่เซ่อมีพื้นที่ปลูกที่พร้อมให้ผลผลิต 4.58 แสนไร่ ชาวสวนมะม่วงในเมืองไป่เซ่อมีการปลูกมะม่วงมากกว่า 30 สายพันธุ์ เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยคาดว่า ปี 2565 ผลผลิตมะม่วงจะทะลุ 1 ล้านตันเป็นครั้งแรก กำลังการผลิตคิดเป็น 30% ของทั้งประเทศ และคาดว่าเฉพาะมะม่วงสด จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เกือบ 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้รัฐยังได้ออก “มาตรการจัดระเบียบตลาดมะม่วง” ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการกำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวมะม่วง เพื่อป้องกันปัญหาการเก็บผลมะม่วงอ่อน เป็นการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ รสชาติ และความสุกของผลมะม่วงที่ออกสู่ตลาด นำไปสู่อำนาจการต่อรองให้มะม่วงได้ราคาดี โดยนอกเหนือจากมีนโยบายสนับสนุนการปลูกแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมการลงทุนด้านการแปรรูปมะม่วงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า และแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด รวมถึงมีการจัดตั้ง “สถาบันวิจัยมะม่วง” เพียงแห่งเดียวในจีน เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิคการปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์

แม้ว่ามะม่วงไทยจะยังคงครองแชมป์ในตลาดจีนทั้งในด้านมูลค่าและปริมาณ (ร้อยละ 43.02 ในเชิงมูลค่า และร้อยละ 39.08 ในเชิงปริมาณ) แต่การนำเข้ากลับมีแนวโน้มลดลงกว่าครึ่งจากข้อมูล 11,710 ตันในปี 2563 เหลือ 5,651 ตันในปี 2564 สาเหตุเนื่องจากปริมาณการนำเข้าของมณฑลที่เคยนำเข้ามะม่วงไทยเป็นจำนวนมากนั้นลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะมณฑลยูนนาน มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลกวางตุ้ง เขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลซานตง อาจเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งและการดำเนินพิธีการศุลกากรที่ด่านชายแดน (การเปิด-ปิดด่านกระทันหัน รถบรรทุกรอคิวนาน/ตกค้าง) ส่งผลให้ผู้นำในพื้นที่เกิดความไม่มั่นใจและชะลอการนำเข้า แต่ทั้งนี้ยังมี มณฑลเจ้อเจียงที่ยอดนำเข้ามะม่วงไทยพุ่งสวนกระแสที่ 1,501 ตัน ในปี 2564 (เพิ่มขึ้น 1,089 ตันจากปี 2563) อีกทั้งยังมีตลาดใหม่อย่างนครฉงชิ่ง และมณฑลเจียงซู ที่มีแนวโน้มการนำเข้ามะม่วงไทยมากขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ประเด็นของมะม่วงจากกัมพูชาถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากปี 2563 ศุลกากรแห่งชาติจีนอนุญาตให้มะม่วงเป็นผลไม้สดชนิดที่ 2 ของกัมพูชา (ต่อจากกล้วยหอม) ที่สามารถส่งออกไปจีน มีการนำเข้ามะม่วงกัมพูชาล็อตแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 และสามารถทำส่วนแบ่งตลาดได้ 23.12% ของปริมาณนำเข้าทั้งประเทศ อีกทั้งยังมีราคาเฉลี่ยที่ถูกมากกว่ามะม่วงไทยเป็นอย่างมาก และกัมพูชายังมีแผนที่จะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร ตีตลาดจีนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนที่หลายชนิดมีลักษณะทับซ้อนกับผลไม้ไทย อาทิ ลำไย ทุเรียน แก้วมังกร ส้มโอ และมะพร้าวน้ำหอม

สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงถึง ได้แก่

การรักษาคุณภาพ ด้วยการจัดการด้านสุขอนามัยพืชของสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุ ะการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (packaging) ที่สามารถปกป้องผลมะม่วงระหว่างการขนส่ง การใช้ระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) เพื่อรักษาความสดใหม่

การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเข้าถึงเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง โดยใช้แพลตฟอร์ม e-Commerce รวมถึงแอปพลิเคชันแชท Food Delivery และ Live streaming ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่พลเมืองเน็ต (Netizen) ของจีน

การขนส่ง โดยใช้เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชินโจว ซึ่งมีหลายเที่ยวต่อสัปดาห์และระยะทางไม่ไกลจากไทย หรือใช้การขนส่งทางเครื่องบินผ่านด่านท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง เป็นช่องทางใหม่ล่าสุดที่ตอบโจทย์การขนส่งผลไม้บอบช้ำง่ายอย่างมะม่วง

ผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสนี้ในการปรับแนวทางการทำการตลาดและธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของกลุ่มผู้บริโภคเพื่อรักษาตลาดเดิม ไปพร้อมกับการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อที่จะรักษาแชมป์ของมะม่วงไทยให้ครองใจตลาดจีนต่อไป

ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ที่มา : https://globthailand.com/china-270722/