กว่า 3 ทศวรรษที่จีนดำเนินนโยบายการเปิดตลาดแลกเทคโนโลยี ได้นำความเจริญคับคั่งมาสู่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็น “ขุมทอง” ของพ่อค้านักลงทุนจากทั่วโลก
“ถนนทุกสายมุ่งสู่จีน” วลีสั้นๆ ที่สะท้อนปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่นักลงทุนจากทั่วโลกต่างหลั่งไหลมาคว้าโอกาสทางการค้าการลงทุนในประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน คิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกจรดใต้ที่เปรียบเสมือน “แม่เหล็ก” ดึงดูดเงินจากนักลงทุนให้หลั่งไหลเข้าประเทศ และช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศจีนจนเกิดเป็นกระแสจีนภิวัฒน์
“ความเจริญ” ที่กระจุกตัวตามแนวชายฝั่งทะเล ส่งผลให้สมรภูมิการค้าการลงทุนในพื้นที่ขยับเข้าใกล้ “จุดอิ่มตัว” และมาถึงจุดสิ้นสุดของยุค “ของถูก ค่าแรงถูก” บทบาทการเป็น “โรงงานโลก” (World’s Factory) ก็ดูจะเลือนลางลงในสายตาพ่อค้านักลงทุนต่างชาติ และผลักให้นักลงทุนเหล่านี้ต้องปรับกลยุทธ์และนำตัวเองก้าวผ่านยุค “Made in China” สู่ “Made for China”
การอิ่มตัวทางเศรษฐกิจและนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล ทำให้พ่อค้านักลงทุนต้องหักพวงมาลัยมุ่งสู่ “จีนตะวันตก” เป็นจุดเริ่มต้นของ “กระแส Go West” หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่พื้นที่ตอนในทางภาคตะวันตกของประเทศจีน พร้อมกับปรากฎการณ์การไหลเข้าของแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคตะวันตก
ณ วันนี้ พื้นที่ภาคตะวันตกมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าภูมิภาคอื่นของจีน แม้ว่าหัวเมืองสำคัญของมณฑลทางตะวันตกถูกจัดเป็น “หัวเมืองรอง” แต่การขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) ระดับรายได้ และสัดส่วนชนชั้นกลางในภาคตะวันตกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพที่ดีขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจของ CBN Weekly (第一财经周刊) สื่อชั้นนำด้านเศรษฐกิจของจีน ที่ได้ทำการสำรวจ 400 เมืองทั่วประเทศจีน พบว่า หัวเมืองทางภาคกลางและภาคตะวันตกที่ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่เมือง 2nd tier and 3rd tier มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจที่จีนตะวันตก จึงเป็นจุดหมายใหม่ที่น่าสนใจของภาคธุรกิจ เพราะการแข่งขันยังไม่เข้มข้นเท่าหัวเมืองใหญ่และยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่อีกมากโข
การเริ่มต้นธุรกิจในจีนตะวันตก การมองหา “พันธมิตรธุรกิจ” หรือตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ที่น่าเชื่อถือและที่มีความถนัดในพื้นที่มาช่วยเสริมส่วนขาดหรืออุดช่องโหว่ นับเป็นอีกหนึ่งทางลัดที่ช่วยให้การทำธุรกิจเติบโตมั่นคงในทุกย่างก้าว โดยการใช้ระบบบริหารจัดการและคนท้องถิ่นซึ่งมีความถนัดและเข้าใจสภาพท้องถิ่นก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งนี้ จะต้องกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และแผนงานธุรกิจในอนาคตไว้อย่างชัดเจนก่อนเริ่มดำเนินกิจการ เพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้
โมเดล “Merger & Acquisition” เป็นแนวทางที่ธุรกิจหลายรายนำมาใช้เพื่อช่วยลดหรือแบ่งเบาภาระความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการขาดประสบการณ์ หรือความไม่คุ้นเคยกับตลาดท้องถิ่น ดังสุภาษิตที่ว่า “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” ยกตัวอย่างเช่น การเข้ามาเจาะตลาดในนครหนานหนิงของ Cafe Amazon ตามคำชักชวนของกลุ่มอีสต์ เอเชียชูการ์ (เครือมิตรผล) ในกว่างซี
นอกจากนี้ ธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับวิถีท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วและลงตัว และสร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภคท้องถิ่น “ปรับตัวสู่ท้องถิ่น” (Localization) เป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม แม้ว่าธุรกิจจะมีเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการแบบ “อินเตอร์” แต่ก็มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้อง “พ่ายศึก-ถอนทัพ” จากสมรภูมิธุรกิจในจีนก็เพียงเพราะขาดความเข้าใจและเข้าถึง “ความเป็นจีน(จ๋า)” นั่นเอง
ยกตัวอย่างเช่น สตาร์บัคส์กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่กาแฟเพื่อตอบโจทย์ธรรมเนียม “การมอบของขวัญ” ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง “ขนมจั้ง” (บ๊ะจ่างไส้หวาน) ในเทศกาลเรือมังกร และ “ขนมไหว้พระจันทร์” ในเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ด้วยรสชาติของไส้ขนมที่แปลกใหม่และทันกระแสเพื่อทานคู่กับกาแฟ แถมยังพ่วงกระแสจีนนิยมด้วยการใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพที่ปลูกในประเทศจีน หรือในกรณีของ KFC นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เน้นรสชาติสไตล์จีนแล้ว จากกระแสหลัวซือเฝิ่นที่กำลังดังไปทั่วจีน ล่าสุด KFC ได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป “หลัวซือเฝิ่น” (เส้นหมี่น้ำมันพริกหอยขมรสจัดจ้านของเมืองหลิ่วโจวในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง)
แม้ชาวจีนมีความเป็นสากลมากขึ้น แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้ละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยเป็นมา “ความกว้างใหญ่ไพศาล ความหลากหลายทางชนชาติ วัฒนธรรม ค่านิยม ระดับรายได้ และพฤติกรรมการซื้อในแต่ละท้องถิ่นของจีน” เป็นโจทย์ที่ท้าทายของพ่อค้านักลงทุนที่ต้อง “คิดเร็ว ทำเร็ว และปรับตัวเร็ว” เพื่อให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคที่มีความเฉพาะตัวของประชาชนชาวจีน
นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์ “ลดไซส์ ใกล้ชิดชุมชน” แผนธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากในจีน โดยนักวิเคราะห์จากหลายสำนัก ชี้ตรงกันว่า โมเดลธุรกิจ Big Box ไม่เหมาะกับตลาดจีน ธุรกิจมีการ “ลดขนาด” เพื่อเจาะพื้นที่ชุนชนรากหญ้ากำลังเป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีมานี้ เพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคต้องการเน้นความสะดวกรวดเร็ว ชอบซื้อน้อยแต่บ่อยครั้ง ดังนั้น ร้านค้าเฟรนไชส์ขนาดกลาง-เล็กจึงเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการนำสินค้าไทยเข้าเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะมี mini program สำหรับการสั่งซื้อและส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว
ในภาพรวม จีนภาคตะวันตกเป็น “ตลาดเกิดใหม่” (Emerging Market) ที่มีความได้เปรียบด้าน “ต้นทุนประกอบธุรกิจ” ทั้งค่าเช่า ค่าจ้าง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่างๆ ทำให้ยังมี “ช่องว่างทางการตลาด” มีคู่แข่งยังน้อย และบรรยากาศการแข่งขันไม่ดุเดือดเท่าพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้
อีกทั้ง ชุนชนเมืองและระดับรายได้ของคนในท้องถิ่นมีการขยายตัวแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะ “ตลาดชนบท” (นอกเขตเมือง) ซึ่งแม้ว่าช่วงแรกของการประกอบธุรกิจอาจจะไม่ได้ผลกำไร ทว่า ตลาดชนบทเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีโอกาสเติบโตได้ดีในอนาคต ก็ถือเสียว่าเป็นการ “กินน้ำเผื่อแล้ง” เข้าชิงฐานลูกค้าก่อนก็ไม่เสียหาย และรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ “เก่าใหม่-ใกล้ชิดชุมชน” เน้นเลือกทำเลเปิดสาขาในเขตเมืองเก่าและพื้นที่เมืองใหม่ (เน้นหมู่บ้านอาคารชุดสร้างใหม่) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในโซนธุรกิจขนาดใหญ่
แม้ว่าจีน(ตะวันตก) จะเป็น “โอกาส(ใหม่)” ที่พ่อค้านักลงทุนเริ่มจับจ้องตาเป็นมัน แต่ประเทศจีนก็ได้ชื่อว่าเป็น “ตลาดปราบเซียน” เพราะมี “ความท้าทาย” นานาประการที่ต้องพึงรู้พึงระวังในการวางแผนธุรกิจ และหาวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นแผนการตลาดเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างโลจิสติกส์ซัพพลายเชนกับความเข้าใจท้องถิ่น การบริหารจัดการด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และสินค้าคงคลัง
สุดท้าย… “กฎระเบียบ/ข้อจำกัดในการลงทุน” มาตรการปกป้องธุรกิจท้องถิ่นของภาครัฐ แม้ว่าจีนจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วน 100 เปอร์เซนต์เต็ม แต่ก็ยังมีกฎระเบียบหรือข้อจำกัดในการลงทุนที่ต้องทำการศึกษาในรายละเอียดให้ชัดเจน
โอกาสมีไว้สำหรับผู้ “พร้อมที่สุด” แล้วคุณล่ะพร้อมหรือยัง!!!
เมื่อท่านพร้อมแล้วที่จะเข้าสู่ตลาดจีน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ยินดีที่จะก้าวไปพร้อมกับท่านด้วยการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาที่จะช่วยให้ท่านเริ่มต้นธุรกิจในจีนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ชี้ช่องทาง สร้างโอกาส พิชิตตลาดจีน”
โดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
ที่มา : https://thaibizchina.com/article/ถนนทุกสายมุ่งสู่จีนตะว/