ไทยจับมือจีนลุยใช้ประโยชน์จาก RCEP ดันเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

ไทยจับมือจีนลุยใช้ประโยชน์จาก RCEP ดันเชื่อมเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้

ไทย-จีนนัดประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12 ร่วมมือใช้โอกาสจากความตกลง RCEP เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบกกับทางทะเลสายใหม่

วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงกับผู้บริหารระดับสูงของจีนและอาเซียน ในการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของไทยเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยได้เน้นย้ำถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับจีน

การประชุมครั้งนี้ หัวข้อหลักคือ “แบ่งปันโอกาสใหม่จาก RCEP ร่วมกันสร้างเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงทางบกกับทางทะเลสายใหม่และชัยชนะร่วมกันกับอนาคตใหม่อ่าวเป่ยปู้” ซึ่งเป็นหัวข้อที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นปีที่ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีไทยเป็นประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ และมีจีนเป็นภาคี

(จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)

 

โดยสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของไทยในฐานะที่เป็นประธานการประชุม RCEP ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 และผลักดันให้ความตกลง RCEP ได้สรุปผลการเจรจาและกลายมาเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ซึ่งช่วยยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาค เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการสรรหาวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการ เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย

กรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ ถือเป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่สำคัญระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 3 มณฑลของจีน ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลไห่หนาน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณรอบอ่าวเป่ยปู้ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางการคมนาคมทางทะเล ซึ่งจะสร้างโอกาสในการขยายตลาดของไทยสู่ภูมิภาคจีนตะวันตกและภูมิภาคอื่น ๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไทยมีความร่วมมือกับจีน

อาทิ ข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่างท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือชินโจว ซึ่งนำมาสู่การเปิดเส้นทางเดินเรือจากไทยมุ่งตรงสู่อ่าวเป่ยปู้ และช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าสู่ตลาดของจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ให้สามารถส่งออกได้รวดเร็วขึ้น

ในสวนของการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับมณฑลกานซู่ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงเส้นทางระเบียงการค้าทางบกกับทางทะเล ระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC) ของจีน ซึ่งเป็นการขยายเส้นทางการขนส่งไปยังจีนตะวันตกและออกไปยังทวีปยุโรป โดยมีท่าเรือชินโจวเป็นต้นสายการขนส่งสินค้าที่สำคัญ และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าและใช้ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของไทย เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ทางน้ำที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคในอนาคต

ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้ารวมของไทยกับมณฑลรอบอ่าวเป่ยปู้ มีมูลค่า 38,101 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 22.92% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็น 29.06% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดระหว่างไทยกับจีน โดยการค้ากับมณฑลกวางตุ้ง มีมูลค่าสูงสุด 30,132 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการส่งออกสินค้าของมณฑลรอบอ่าวเป่ยปู้ไปไทย มีมูลค่า 14,958 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ

ได้แก่ โทรศัพท์ สื่อบันทึกที่ใช้แม่เหล็ก ส่วนประกอบของโทรศัพท์ อุปกรณ์รับ เปลี่ยน ส่งข้อมูล และเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ ส่วนการนำเข้าสินค้าของมณฑลรอบอ่าวเป่ยปู้จากไทย มีมูลค่า 23,143 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ หน่วยเก็บข้อมูลอัตโนมัติ ส่วนประกอบของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทุเรียน เครื่องประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์ และไม้ที่เลื่อยแล้ว

 

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-978407